ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่ง เป็นบทเพลงที่สะท้อนสภาพวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของไทยได้ดีที่สุด เพลงลูกทุ่งมีท่วงทำนอง เนื้อร้อง สำเนียง ตลอดจนลีลาการร้องการแสดงที่เป็นแบบอย่างเฉพาะ ซึ่งสามารถให้บรรยากาศของความเป็นลูกทุ่งได้เป็นอย่างดี
เพลงลูกทุ่งนั้นมีหลายยุคหลายสมัย แต่ที่เป็นยุคที่เฟื่องฟูขีดสุดเห็นจะเป็นในยุคของนักร้องที่ได้ฉายาว่าราชาเพลงลูกทุ่งตลอดกาลได้แก่ ยุคของสุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2513 ซึ่งราชาเพลงลูกทุ่งสุรพลยังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงเวลาที่มีเพลงลูกทุ่งโดยการร้อง และแต่งเพลงของเขาเองเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักแต่งเพลงฝีมือดีก็ได้เกิดในช่วงเวลานี้อย่างมาก ประกอบกับเป็นช่วงเวลาของวงดนตรีลูกทุ่งอีกนับจำนวนไม่ถ้วน เช่น วงจุฬารัตน์ พร ภิรมย์ สุชาติ เทียนทอง ชาย เมืองสิงห์ เพลิน พรหมแดน และ ฯลฯ
สำหรับผู้ที่คล่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งอย่าง เจนภพ จบกระบวนวรรณ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เพลงลูกทุ่งได้เฟื่องฟูสุดขีดในยุคสมัยของครูสุรพล สมบัติเจริญ และหลังจากที่เขาถูกลอบยิงตายก็ยิ่งทำให้เพลงลูกทุ่งได้พุ่งขึ้นสู่ความนิยมอย่างเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในชนบท หรือแม้แต่ในเมือง”
ในช่วงเวลานี้ยังมีนักร้องลูกทุ่งเกิดใหม่อีกนับไม่ถ้วน เช่น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศรคีรี ศรีประจวบ ก้าน แก้วสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ผ่องศรี วรนุช และอื่น ๆ ฯลฯ
ยุคทองของเพลงลูกทุ่ง
นักร้องที่ได้ฉายาว่าราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ได้ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งไทยอยู่ในความนิยมของนักฟังเพลง ด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ลีลาที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นนักแต่งเพลงเอง และขับร้องด้วยตนเองอีกด้วย เขาได้เริ่มชีวิตการร้องเพลงจากวงดนตรีของกองดุริยางค์ทหารอากาศ เขาชอบนำเพลงในจังหวะรำวงที่มีท่วงทำนองที่สนุกสนานมาแต่งเป็นเพลงของเขา เช่น เนื้อร้องและทำนองในเพลงเสียวไส้ และเพลงของปลอม ซึ่งเป็นเพลงในเนื้อร้องที่กระเซ้าเย้าแหย่ แต่ประกอบไปด้วยความเป็นจริงของสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งสุรพลดูเหมือนเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงเพียงผู้เดียวที่สามารถแต่งเพลงในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี และได้รับความนิยมทุกเพลง
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเขาได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสืบทราบให้เป็นที่แน่ชัดว่าด้วยสาเหตุใดจนบัดนี้ แต่ถ้านึกย้อนดูว่าถ้าเขายังไม่ตายจะทำให้วงการเพลงลูกทุ่งพัฒนาไปได้อีกแค่ไหน?

About the author